บทความสอนร้องเพลงที่ผมเคยพิมพ์ไว้เมื่อหลายปีก่อน
ผมเคยสอนลูกๆ ในคลาสเรียนร้องเพลง
เรื่อง “การร้องเพลงกับการเดินทาง” ว่า
เอาเรื่องการเดินทางก่อนก็แล้วกันนะครับ
ทุกครั้งที่จะออกเดินทาง
เราควรรู้ว่า เราจะเริ่มจากที่ไหน
และจุดหมายปลายทางคือที่ไหน
ลองนึกภาพว่า ถ้าเราถูกจับปิดตา
แล้วพาไปปล่อยไว้ที่แห่งหนึ่งที่เราไม่รู้จัก
เปิดตา แล้วบอกว่าให้ไปที่ไหนสักแห่งนึง
เช่น “กลับบ้าน”
แค่เริ่มต้นก็งง ไม่รู้จะไปยังไงแล้ว
เพราะเราไม่รู้ว่า ตอนนี้เราอยู่ที่ไหน
จะเริ่มยังไง ไปยังไง มันไม่รู้ทิศทาง
หรือลองนึกอีกแบบนึง
ออกเดินทางได้เลยครับ…..
สักพักนึงเราคงงงๆ ว่า นี่เราจะไปไหนอ่ะ
การออกเดินทางโดยไม่วางแผน
ไม่รู้จุดเริ่มต้น ไม่รู้จุดหมายปลายทาง
เป็นอะไรที่มันห่วยบรรลัย
มาดูเรื่องการร้องเพลงกันมั่งดีกว่าครับ
ว่ามันเหมือนการเดินทางยังไง
ก่อนจะร้องเพลงผมถามลูกๆ ของผมทุกคนเป็นประจำว่า
เนื้อเพลง เพลงนี้หมายถึงอะไรอ่ะ
“คนที่ต้องร้องเพลงนี้ เค้ากำลังรู้สึกอะไร”
และ “เค้าต้องการบอกอะไรไปยังผู้ฟัง”
จุดเริ่มต้นคือ ต้องวิเคราะห์เพลงให้ออกให้ได้ก่อนว่า
นักแต่งเพลงเค้าเขียนเนื้อเพลงมาว่าอย่างไร
เราต้องสวมวิญญานแทนคนๆ นั้น ในเพลงนั้นๆ ให้ได้
นักร้อง…คือผู้ถ่ายทอดความรู้สึกของบทเพลงไปยังผู้ฟัง
“แทนนักแต่งเพลง”
ถ้าต้นทาง นักร้องก็เริ่มด้วยการจำเนื้อเพลงไม่ได้
จำได้แต่ไม่เข้าใจเนื้อเพลง
เข้าใจแต่ไม่เชื่อในเพลงที่กำลังร้องแล้ว
รับรองได้ว่า คนฟังจะไม่เชื่อในสิ่งที่เรากำลังร้อง
ปลายทางของการร้องเพลง
คือการสื่อความหมายไปยังผู้ฟัง
ถ้าปลายทาง เราร้องเพลงจนจบเพลง
แต่ไม่สามารถสื่ออารมณ์ และความหมาย ไปยังผู้ฟังได้
การร้องเพลงที่จบไปก็คงเป็นได้แค่การท่องอาขยาน
ถ้าทำได้แค่นี้อย่าร้องเลยดีกว่า
ผมจับนกแก้ว นกขุนทอง มาฟังเพลงจนมันร้องตามได้
แล้วเอามันมาร้องให้ฟังก็พอ
เพราะมันก็น่าจะร้องตามได้จนจบเพลง
และไร้อารมณ์เหมือนๆ กัน
ดังนั้นปลายทางที่ประสบความสำเร็จที่สุดของนักร้อง
ไม่ใช่ว่าใครใช้เทคนิคการร้องได้เจ๋งกว่ากัน
แต่มันคือ ใครสื่ออารมณ์ของบทเพลงไปยังผู้ฟังได้
สามารถนำพาให้ผู้ฟังเข้าถึงอารมณ์เพลงได้
พาพวกเค้าเดินทางไปกับเราได้
ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบเพลง
ร้องเพลงก็เหมือนการเดินทาง
จุดเริ่มต้น ระหว่างทาง และจุดหมายปลายทาง
คือสิ่งสำคัญ
“เชื่อในสิ่งที่ร้อง สื่อมันออกมาให้ถึงผู้ฟัง”