โคตรสำคัญ!! ร้องเพลงไม่มีเอกลักษณ์ น้ำเสียงไม่จำ ฟิลลิ่งไม่ได้ ทำยังไงดี?

พี่เอ็ดดี้คะ มีโปรดิวเซอร์คนนึงบอกว่าหนูร้องเพลงไม่มีเอกลักษณ์
น้ำเสียงไม่จำ ฟิลลิ่งยังไม่ค่อยดี พี่ช่วยวิจารณ์หน่อยได้ไหมคะ
พี่คิดว่าหนูเป็นยังไง?
.
พอดีคิดถึงเรื่องนี้ที่นักร้องสาวน้อยคนหนึ่ง มาขอคำปรึกษาในคลาสสอนร้องเพลงเมื่อหลายวันก่อน
ก็เลยอยากเอามาเล่า เพราะน่าจะเป็นประโยชน์กับคนที่รักการร้องเพลงทุกคนได้ครับ

.
เรามาว่ากันที่ เอกลักษณ์ในน้ำเสียงคืออะไร? ก่อนเลยดีกว่า
เคยคุยโทรศัพท์ไหมครับ?… เคยเอาเบอร์แปลกที่ไม่ใช่เบอร์มือถือเรา
โทรไปหาเพื่อน…แล้วเพื่อนมันจำเสียงได้ไหมครับ?
ถ้าเพื่อนจำได้ แสดงว่าเสียงเรานี่ก็มีเอกลักษณ์ดีเนอะ ใช่ไหมครับ?
.
ปัญหาคือเวลาที่เราร้องนี่แหละครับ เวลาร้องเพลง เราจะมัวแต่ประดิษฐ์ให้มันเพราะ ๆ
ต้องออกเสียงแบบนั้น เทคนิคแบบนี้ จนบางทีมันทำให้เอกลักษณ์ของน้ำเสียง
และความเป็นตัวตนของเรามันเลยหายไป เพราะมัวแต่ห่วงจะร้องให้มันเพราะ ๆ
.
ในทางกลับกัน เคยโทรหาเพื่อนแล้วเก๊กเสียงหล่อ
ดัดเสียงทุ้ม ๆ นุ่ม ๆ เพื่อที่จะแกล้งเพื่อนไหมครับ
เพื่อนมันจะจำไม่ได้ แล้วก็งง ๆ ว่า ใครโทรมาวะ?
.
นั่นแหละครับ ถ้าเปรียบเทียบกับการร้องเพลง
ก็คือ ระหว่างที่เราร้องเพลง ถ้าเรามัวแต่ปั้นเสียงให้มันสวย
น้ำเสียงที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเรามันจะหายไปไงครับ
.
นี่แหละที่ครูสอนร้องเพลงหลาย ๆ ท่าน พยายามบอกว่า
ให้ร้องเหมือนที่พูด ส่วนหนึ่งก็คือ…
คาแรคเตอร์เฉพาะตัวของเรามันจะได้คงอยู่
วิธีการพูดแบบนี้ ออกเสียงแบบนี้ มันคือเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเรา
ถ้ามัวแต่คิดมากว่าจะต้องออกเสียงแบบนั้นแบบนี้
เอกลักษณ์ในน้ำเสียงจะหายไป
.
มาต่อกันที่เรื่องที่สำคัญมากที่สุดอีกเรื่องหนึ่งก็คือ “อารมณ์ในน้ำเสียง”
ผมย้ำอยู่เสมอ ๆ ในแทบทุกครั้งที่สอนร้องเพลงว่า
เวลาร้องเพลงเนี่ยะ เราต้องเชื่อในสิ่งที่ร้อง
เพราะถ้าเราเองยังไม่เชื่อ แล้วใครจะเชื่อเรา
ลองอ่านเนื้อเพลงดู ทำความเข้าใจสิ่งที่นักแต่งเพลงเขียนไว้
เรามีหน้าที่ถ่ายทอดบทเพลงนี้แทนผู้ประพันธ์
.
วิธีการที่ง่ายที่สุดในการสรา้งอารมณ์ในน้ำเสียงก็คือ
ลองสมมติว่าถ้าเราคือตัวละครในบทเพลงนี้แล้วตอบให้ได้ว่า
.
1. เรากำลังรู้สึกอย่างไร? รัก สุข เศร้า เหงา เสียใจ โกรธ
ที่มาที่ไปของเรื่องราวนี้คืออะไร? จะได้รู้จักตัวเองก่อน
เพื่อที่จะใช้น้ำเสียงสื่อสารได้ถูกต้อง ว่าตอนนี้เรากำลังเป็นแบบไหน
.
2. เราร้องเพลงนี้ให้ใครฟัง?
ร้องฟังเองคนเดียวเหงาๆ
ร้องให้เพื่อน (บุคคลที่ 3) ฟัง
ร้องให้คู่กรณี (บุคคลที่ 2) ฟัง
ลองนึกภาพตามสิครับ พูดคนเดียว ปรึกษาเพื่อน หรือพูดกับคู่กรณีของเรา
เราใช้น้ำเสียงต่างกันแน่ ๆ
.
3. ถ้าบุคคลดังกล่าว ได้ฟังสิ่งที่เราสื่อสารออกไปผ่านบทเพลง
เค้าจะต้องรู้สึกอย่างไร? เราอยากให้เค้ารู้สึกว่าอย่างไร?
ฟังเพลงนี้จบแล้ว เค้าควรจะรู้สึกยังไง?
สนุก มีความสุข เศร้าง เหงาตามเรา ปลอบใจเรา ขอโทษ ง้อ
.
คำถาม 3 ข้อนี้ ถ้าตอบได้ และทำได้ ยังไงก็ต้องร้องเพลงเพราะ
โดยที่แทบไม่ต้องสนเลยด้วยซ้ำว่า เรากำลังร้องเพลงด้วยเทคนิคไหน
.
อันนี้พูดถึงเฉพาะในกรณีที่ร้องเพลงพอได้
ไม่เพี้ยน ไม่คร่อมจังหวะนะครับ
เพราะถ้าแค่ร้องเพี้ยน ร้องไม่ลงจังหวะอ่ะ
เค้าเรียกว่าร้องไม่เป็นเพลง
อย่าไปหวังว่ามันจะเพราะเลย
.
สรุปง่าย ๆ ก็คือ…
ใคร ๆ ก็มีเอกลักษณ์ในน้ำเสียงเป็นของตัวเอง
อย่าประดิษฐ์ อย่าปั้นเสียงเสียจนเอกลักษณ์ของเราหายไป
.
ถ้าจะร้องเพลงให้เพราะ ก็เชื่อในสิ่งที่ร้อง
แล้วสื่อสารมันออกมาให้ได้
.
บางครั้งความเพราะก็ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบนักหรอก
ถ้าสื่อสารความหมายของบทเพลงออกมาได้
คนฟังรับรู้ ถึงความรู้สึกที่เราส่งไปให้ได้
นั่นแหละร้องเพลงเพราะแล้ว
.
แต่ถ้าอยากจะเพราะและสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะทำได้
ก็ฝึกพื้นฐานซะ ฝึกๆๆๆ จนกว่ามันจะเข้าเส้น
การหายใจ การออกเสียง การฟัง
ความแม่นยำในการออกเสียงให้ตรงโน้ตและจังหวะ
พอทำได้แล้วลืมก็มันซะให้หมด ลืมทุกเรื่องที่ครูสอน
.
ร้องมันออกมาด้วยหัวใจก็พอ…
เชื่อในสิ่งที่ร้อง…
.
หมายเหตุ : ที่บอกว่าให้ลืมทุกเรื่องที่ครูสอน
ไม่ได้หมายความว่าให้ลืมเนื้อเพลงได้นะครับ สวัสดี

Comments

comments