สอนร้องเพลง | การเตรียมความพร้อมก่อนขึ้นร้องเพลง

สอนร้องเพลง, เรียนร้องเพลง, เตรียมความพร้อม

สอนร้องเพลง, เรียนร้องเพลง, เตรียมความพร้อม

สอนร้องเพลง – การเตรียมความพร้อมก่อนขึ้นร้องเพลง

การร้องเพลงสักเพลงหนึ่งให้ได้ดี (ไม่ใช่แค่ร้องให้ได้) ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย เริ่มตั้งแต่รู้จักการหายใจ รู้จักโทนเสียงของตนเอง รู้จักการออกเสียงที่ถูกต้องทั้งเสียงสระ พยัญชนะ รู้จักการใช้ลีลาที่เหมาะสม ฯลฯ การเตรียมความพร้อมให้กับตนเองนับเป็นสิ่งที่สำคัญมากอีกสิ่งหนึ่ง เพราะถึงแม้ว่าคุณจะสามารถร้องเพลงได้ดีขนาดไหนนั้น หากคุณไม่พร้อมที่จะนำเสนอมันออกมาให้ผู้ฟังและผู้ชมได้รับรู้ ความสามารถของคุณก็ถือเป็นเรื่องเปล่าประโยชน์ เรามาว่ากันเลยดีกว่าว่า ทำอย่างไรให้พร้อมสำหรับการแสดงของคุณ

 

  1. คุณทราบหรือยังว่า… งานที่คุณต้องไปร้องเพลงให้คนอื่นเค้าฟังเป็นงานอะไร หลายคนอาจจะงงว่า ทำไมต้องทราบ ทราบไปทำไม ทราบแล้วได้อะไร การที่เราทราบว่างานที่เราจะไปแสดง (ร้องเพลง) นั้นเป็นงานอะไร จะช่วยให้คุณสามารถเตรียมการได้หลายๆ อย่าง ซึ่งผมจะยกมาเฉพาะที่สำคัญๆ อาทิ การแต่งกายให้เหมาะสมกับงาน การเลือกบทเพลงที่จะร้อง

    การแต่งกาย เมื่อคุณทราบว่างานที่จะไปร้องเพลงนั้น เนื่องด้วยโอกาสใดคุณจะสามารถเตรียมการแต่งกายให้เหมาะสมได้ เช่น งานราตรีสีน้ำเงิน (ผมสมมติว่ามันเป็นงานชุมนุมศิษย์เก่า หรืองานอะไรก็ได้ ที่มีคอนเซ็พท์ในการแต่งกายของคนทั้งงานให้เป็นสีน้ำเงิน) หากเราแต่งชุดสีอื่นๆ ก็ไม่เหมาะสมกับงานนั้นๆ เพราะฉะนั้นคุณควรแต่งกายสีน้ำเงิน แต่หากคุณแต่งสีน้ำเงินก็จะทำให้คุณไม่ได้ต่างอะไรไปจากคนอื่นๆ ในงาน ดังนั้นคุณควรเลือกว่า ทำอย่างไรให้สีน้ำเงินที่คุณใส่นั้นดูดี และต่างจากผู้ร่วมงานคนอื่นๆ อาจเป็นชุดที่ดูดีที่สุดเท่าที่คุณจะหาได้ หรือ ชุดที่ทำให้ภาพลักษณ์ของคุณดูแตกต่างจากบุคคลธรรมดาทั่วไป (ดูแล้วมีความเป็นนักร้องอยู่ในตัว ไม่ใช่หล่อหรือสวยอย่างนักธุรกิจ)

    การเลือกบทเพลง ลองนึกภาพดูว่า หากคุณเป็นนักร้องหรือถูกเชิญขึ้นไปร้องเพลงในงานแต่งงาน คุณขึ้นไปร้องด้วยความมั่นใจ เสียงร้องมีพลัง กล้าสบตาคนดู ทำทุกอย่างที่นักร้องพึงกระทำ แต่คุณเลือกบทเพลงอันไพเราะ ที่มีความหมายไม่พึงประสงค์สำหรับงานนี้ เช่น ปาฏิหาริย์ ของ กบ ทรงสิทธิ์  ดูสิครับ แล้วคุณจะรู้ว่า การให้ความสำคัญกับงานที่คุณต้องแสดงนั้นสำคัญขนาดไหน…. ผมหวังว่าคุณคงไม่อยากถูกเจ้าบ่าวต่อยกลางงานนะครับ

 

  1. สถานที่ คุณต้องรู้ว่าสถานที่ ที่คุณต้องไปแสดงนั้นคือที่ไหน เพราะว่า…….เดี๋ยวไปไม่ถูก ^-^   นอกจากนั้น มันยังช่วยเรื่องความเหมาะสมของการแต่งกายได้อีกด้วย ผมหวังอีกเช่นกันว่าคุณคงไม่อยากแต่งกายแล้วโดนซุบซิบนินทาว่า “เสร่อที่สุด” “หวาย…แต่งมาได้ไงเนี่ยะ” “ไอ้นี่เว่อร์ชมัด” และอีกสารพัดจะนินทา เพราะว่าคุณแต่งตัวเซอร์สุดฤทธิ์เพื่อไปงานที่โรงแรมระดับ 5 ดาว หรือแต่งตัวหล่อ-สวยสุดขีด เพื่อไปงานวันเกิดเพื่อนซึ่งจัดที่สนามหน้าบ้านเพื่อน

 

  1. เวลา เพราะคุณต้องรู้ว่าเวลาจัดงานคือเวลาไหน ไม่งั้นเดี๋ยวคุณคงได้ไปถึงงานก่อนใครเพราะไปตั้งแต่เช้าทั้งๆ ที่มีงานตอนค่ำ งานกลางวันหรืองานกลางคืน ก็มีผลต่อการเลือกเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย การแต่งหน้า ทำผม  และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือการที่คุณควรจะรู้ว่าคุณมีเวลาอยู่บนเวทีการแสดงของคุณอยู่กี่นาที เพื่อที่คุณจะได้ใช้เวลาที่มีอยู่ให้คุ้มค่าที่สุดเท่าที่คุณจะทำได้ ด้วยการเตรียมเพลงให้เหมาะสมกับเวลาที่มี, การเตรียมบทพูดคั่นหรือพูดเข้าเพลงที่เราจะร้อง ยิ่งถ้าคุณทราบว่าการแสดงชุดต่อจากคุณคือการแสดงอะไรของใคร ก็ยิ่งทำให้คุณสามารถเตรียมบทพูดส่งท้ายได้ง่ายขึ้น

 

กรณีศึกษาที่ 1 : ลองนึกภาพว่าคุณไม่รู้หรอกว่าคุณมีเวลาอยู่บนเวทีเพียง 15 นาที จากนั้นคุณก็เตรียมการมาอย่างดีในการร้องเพลง หวังว่างานนี้คุณเกิดแน่ เลยเตรียมเพลงมาสัก 7-8 เพลงดูสิครับ รับรองได้ว่าคุณอาจโดนสิ่งของชิ้นเล็กๆ พอดีมือ ปาเข้ามาที่ศรีษะน้อยๆ ของคุณจากทางด้านหลังเวทีเป็นแน่ เพราะถึงเค้าจะเข้าใจดีว่าคุณทำได้ดี แต่ขอโทษทีเถอะการแสดงชุดอื่นๆ หรือช่วงเวลาสำคัญอื่นๆ ในงานเค้ากำลังรอคุณอยู่ อย่าทำให้คนอื่นเสียเวลาเพราะเรา

 

กรณีศึกษาที่ 2 : ลองนึกภาพว่าคุณไม่รู้หรอกว่าคุณมีเวลาอยู่บนเวทีถึง 30 นาที แต่คุณก็เตรียมการมาอย่างดีในการร้องเพลง หวังว่างานนี้คุณเกิดแน่ ด้วยการเลือกเพลงที่ร้องเพราะที่สุดมา 1 เพลง เมื่อคุณร้องแล้วเดินเข้าหลังเวทีไปอย่างสวยงาม แต่ขอโทษทีเถอะ คุณรู้มั๊ยว่า การแสดงคิวถัดจากคุณน่ะ เค้าอาจจะยังแต่งหน้าทำผมกันอยู่เลย เพราะเค้าคิดว่ายังเหลือเวลาอีกเกือบครึ่งชั่วโมง คุณรู้มั๊ยว่าคุณทำให้คนอื่นลำบาก แล้วหลังจากนี้ก็คงไม่ค่อยมีใครอยากทำงานร่วมกับคุณ

 

  1. ผู้ร่วมงาน คุณคงคิดล่ะสิว่าใครเล่าจะบ้าจำชื่อผู้ที่มาร่วมงานทั้งหมดนับพันคน ทางที่ดีนั้นผมคิดว่า คุณควรรู้จักแค่แขกสำคัญๆ ที่มางานก็พอ เพื่อที่คุณจะได้ขึ้นไปยืนอยู่บนเวที แล้วสามารถกล่าวคำทักทายอย่างเหมาะสมก่อนที่คุณจะเริ่มการแสดง

 

กรณีศึกษา : คุณลองนึกถึงผลลัพธ์ดูสิ ถ้าคุณต้องร้องเพลงในงานวันเกิดของเจ้านายของคุณพ่อของคุณ จากนั้นคุณก็ก้าวขึ้นสู่เวทีอย่างสง่างาม แล้วคุณก็กล่าวคำทักทายด้วยสีหน้าระรื่นว่า “สวัสดีครับ(ค่ะ) แขกผู้มีเกียรติทุกท่าน กระผม(ดิฉัน) มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสขึ้นมาร้องเพลง ในงานวันเกิดของ….ของ…..เอ่อ…ขอประทานโทษนะครับ(คะ) กระผม(ดิฉัน)จำชื่อท่านไม่ได้น่ะครับ(ค่ะ)”

 

Comments

comments