สอนร้องเพลง | วิธีแก้อาการตื่นเต้นเมื่อต้องร้องเพลง

สอนร้องเพลง, เรียนร้องเพลง

สอนร้องเพลง – วิธีแก้อาการตื่นเต้นเมื่อต้องร้องเพลง

เวลาผมไปไหนมาไหนเจอน้องๆ หลายคนที่รู้จักมักคุ้นกัน มักจะมีคำถามเสมอๆ เกี่ยวกับการร้องเพลง ในฐานะที่ผมเป็นอาจารย์สอนร้องเพลงว่า “ทำไงดีอ่ะพี่…เวลาที่ขึ้นเวทีมันประหม่า ตื่นเต้นมากๆ รู้สึกว่าร้องก็ไม่ได้ดีเหมือนที่ซ้อมไว้เลย” ผมมักจะตอบไปสั้นๆ เสมอว่า “พร้อมรึยังล่ะที่จะขึ้นเวที… ถ้าขึ้นเวทีแล้วไม่พร้อม มันก็จะเป็นอย่างที่เราเป็นอยู่นั่นแหละ” หลายๆ คน ถึงกับงงในคำตอบ วันนี้มีคำเฉลยครับ

หลายๆ คน คิดว่าพร้อมแล้วสำหรับการร้องเพลงบนเวที หลายๆ คนมั่นใจในตัวเองสูง
แต่ที่แน่ๆ มีหลายสิ่งที่นักร้องควรทำ เมื่อต้องขึ้นเวทีเพื่อขับขานบทเพลงให้ผู้อื่นฟัง
แต่กลับละทิ้ง ละเลย หรือไม่ให้ความสนใจกับมันเลยแม้แต่น้อย คือ

 

  1. หามุมสงบเพื่อวอร์มเสียง (Warm Up) การวอร์มเสียง เป็นสิ่งที่นักร้องหลายคนไม่เคยทำ โดยเฉพาะก่อนขึ้นเวที การวอร์มเสียงเป็นหัวใจสำคัญของสุขภาพและการควบคุมเสียงของเรา ก่อนขึ้นร้องเพลงบนเวทีทุกครั้งควรจำไว้ว่า ควรหามุมสงบเพื่อฝึกซ้อม วอร์มเสียง ก่อนร้องเสมอ หามุมสงบสักแห่งเพื่อที่เราจะได้มีสมาธิ ที่ที่สงบ เป็นส่วนตัวเป็นสถานที่ที่ดีที่สุดในการวอร์มเสียงการวอร์มเสียง อาจดูเหมือนเป็นเรื่องสนุกสนาน ตลก ที่เราจะต้องมาร้องโน้ตซ้ำไปซ้ำมาจนหลายๆ คนถามว่าเราจะทำอย่างนี้ไปเพื่ออะไร แต่การวอร์มเสียง เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้เสียงของเราอยู่ตัว สามารถบังคับใช้ได้ตามที่ต้องการ และที่สำคัญ เป็นเรื่องยากที่จะทำได้อย่างถูกต้อง

    ผมเป็นคนหนึ่งละ ที่เวลาส่วนใหญ่ในการวอร์มเสียงมักจะอยู่ในรถยนต์ของตัวเอง เพราะเป็นสถานที่แห่งหนึ่งที่เรารู้สึกได้ว่ามันเป็นส่วนตัว สงบ และแหกปากเสียงดังได้ไม่รบกวนใคร

  1. ถ้าเป็นไปได้ ควรหาโอกาสซ้อมบนเวที ลองยืน เดินไปมา ตามตำแหน่งต่างๆ ของเวที เพื่อทดสอบการฟังว่าจุดไหนบนเวทีที่ได้ยินไม่ชัดหรือเปล่า เพื่อหลีกเลี่ยงที่จะเดินไปบริเวณนั้นเมื่อทำการแสดงจริง หลายคนที่ไม่มีโอกาสซ้อมบนเวที จะไม่มีโอกาสรู้ถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้บนเวทีเลย นักร้องหลายๆ คนประสบปัญหาเมื่อต้องขึ้นไปร้องบนเวที ด้วยสาเหตุที่ว่า “ไม่ได้ยินลำโพงมอร์นิเตอร์” หรือซ้ำร้าย “เวทีบางแห่งไม่มีแม้กระทั่งมอนิเตอร์จะให้ฟัง”การที่นักร้องไม่ได้ยินมอร์นิเตอร์เป็นเรื่องที่เลวร้ายอย่างยิ่ง เพราะอาจจะทำให้นักร้องไม่ได้ยินเสียงดนตรี ไม่ได้ยินเสียงตัวเอง และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นักร้องหลายๆ คนร้องเพลงเพี้ยน เมื่อขึ้นเวที จงจำไว้ว่า เมื่อมีโอกาสซ้อม จงอย่าเกรงใจใครจนเกินกว่าเหตุ หากเราไม่ได้ยินมอร์นิเตอร์ เราสามารถบอก Sound Engineer ได้เสมอว่าเราไม่ได้ยินเสียงอะไร ต้องการเสียงเครื่องดนตรีชิ้นไหนให้ดังขึ้นบ้าง หรือแม้แต่ต้องการได้ยินเสียงร้องของตัวเองในมอร์นิเตอร์ให้ชัดๆ กว่านี้ ก็สามารถบอกได้ ปรึกษา Sound Engineer ได้ พี่ๆ เค้าก็เป็นคน…ไม่กัด!!!

    แค่เพียงเราพูดดีๆกับเค้า เราก็จะได้สิ่งที่เราต้องการมา การได้ยินเสียงเครื่องดนตรีที่เราชินหู ได้ยินเสียงร้องของตัวเอง เป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยเราได้อย่างมากในการร้องเพลงได้ดี เท่าที่ผมเคยประสพมา นักร้องหลายๆ คนชอบพูดว่า “ไม่กล้าอ่ะ เกรงใจพี่เค้า” นั่นล่ะสาเหตุสำคัญที่ทำให้เราร้องเพลงไม่ได้เรื่อง ศิลปินหลายๆ คนก็ยังเคยพูดคำๆ นี้ จำไว้ว่า ลดความเกรงใจลง ใช้วาจาให้สุภาพอ่อนน้อม ในการให้ใครก็ตามช่วยเหลือเราในเรื่องใดก็ตาม โดยเฉพาะเรื่องนี้ พลาดไม่ได้

  1. อย่าประหม่า เหมือนเป็นเรื่องที่พูดง่ายๆ แต่หลายๆ คนบอกว่าทำได้ยาก ทำไมล่ะครับ ถ้าคุณคิดว่าคุณพร้อมแล้ว ซ้อมมาดีแล้ว มีอะไรที่เราจะต้องประหม่าอีกล่ะ จงจำไว้ว่า ก่อนขึ้นเวทีเพื่อร้องเพลง หรือเล่นดนตรี ความพร้อมเป็นสิ่งที่ต้องมีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม งานในวันนี้ของเราถึงจะออกมาดีที่สุดได้ผมสอนนักเรียนอยู่เสมอว่า การซ้อมเป็นสิ่งสำคัญที่สุด สิ่งที่จำเป็นและสำคัญมาก คือ การซ้อมให้ได้ดี 100 % หรือมากกว่านั้น จำไว้เสมอว่า การซ้อมจะต้องแม่นยำ ดีที่สุดเสมอ เมื่อคุณมั่นใว่าคุณทำได้ดีที่สุดแล้ว เวลาขึ้นเวที จงปล่อยตัวตามสบายที่สุด ไม่มีใครหรอกที่จะทำอะไรได้ดีที่สุดเหมือนตอนซ้อม หากคุณซ้อมมาแล้วมั่นใจเต็มที่ 120 % รับรองได้เลยว่า เวลาคุณร้องเพลงบนเวที คุณจะทำได้ดีแค่เพียง 90-100 % เท่านั้นเอง…. เพราะฉะนั้น หากคุณไม่พร้อม ซ้อมไว้ได้แค่ 60-70 % มั่นใจได้เลยว่า โอกาสน้อยมากที่คุณจะสามารถร้องได้ดีกว่าตอนซ้อม คิดดูเอาละกันว่า คุณจะทำได้สักกี่เปอร์เซ็นต์กัน

    นักเรียนหลายคนของผมชอบทำตัวเก้อเขิน ไม่ยอมร้องและแสดงความสามารถให้ผมดูอย่างเต็มที่เมื่อเวลาซ้อม แล้วมักจะอ้างว่า เวลาที่ขึ้นเวที มั่นใจว่าทำได้… ผมบอกได้เลยว่า “ไม่มีทาง” ถ้าซ้อมยังไม่มั่นใจเลย จะเอาความมั่นใจที่ไหนไปขึ้นเวที คุณว่าจริงมั๊ยครับ

 

  1. อย่าทำตัวเป็นลูกอีช่างเม้าท์ พูดเยอะพูดแยะ พูดมากพูดมาย เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เส้นเสียงเกิดการบอบช้ำ คอแห้ง เกิดอาการระคายคอ มากเสียยิ่งกว่าการที่เราร้องเพลงเสียอีก โดยเฉพาะการที่เราต้องพูดในสถานที่ที่มีเสียงดัง เช่นในบริเวณงานที่เราไปแสดง ในผับที่เราไปร้อง ฯลฯ ถึงแม้วันนั้นจะเป็นวันที่แสนสนุกของคุณก็ตาม จำไว้ว่า วันนี้เรามาร้องเพลง ไม่ได้มาแข่งพูดชิงแชมป์ประเทศไทย ร้องเพลงให้เสร็จก่อนก็ได้ เวลาพูดยังมีอีกเยอะ ตราบใดที่เรายังมีลมหายใจอยู่พูดถึงเรื่องลมหายใจ…. เวลาพูดหลายๆ คนมักเกิดอาการลืม ลืมแม้กระทั่งที่จะหายใจ หากมีเวลาว่าง จงฝึกตัวเองอยู่เสมอ พูดจาให้มีจังหวะจะโคน รู้จักการเว้นวรรคเพื่อการหายใจเสียบ้าง พยายามฝึกให้เกิดความเคยชิน ลองคิดดูก็แล้วกัน ขนาดพูดยังลืมหายใจ แล้วร้องเพลงจะไปเหลืออะไร

 

  1. อัดเสียงของตัวเองมาฟังบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเวลาซ้อม ไม่ว่าจะเป็นเวลาแสดงที่ไหน หากมีโอกาส จงหาทางอัดเสียงของเรามาฟังอยู่เสมอ เพราะบางครั้ง การที่เราร้องออกไป เราอาจนึกว่านั่นคือสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว ลองอัดแล้วเก็บเสียงตัวเองมาฟังดูสิ… แล้วคุณจะรู้ว่า ข้อผิดพลาดที่สามารถแก้ไขได้ยังมีอีกเยอะเลยหลายคนจะไม่ชอบที่จะได้ยินได้ฟังเสียงตัวเองจากเทปที่อัดไว้ บางคนบอกว่ามันทุเรศ บางคนบอกว่า มันไม่เหมือนเสียงที่เราร้องออกไปจริงๆ เลย จำไว้นะครับว่า เสียงที่เราได้ยินจากเทปนั่นแหละ คือเสียงที่คนอื่นได้ยิน เพราะเวลาที่เราร้อง หรือพูดอะไรออกไป เราจะรู้สึกว่ามันดีกว่าที่เราได้ยินจากเทปเสมอ เพราะเสียงที่เราได้ยินเวลาที่พูดหรือร้องเพลงออกไปมันจะดูก้องกังวาลกว่า เนื่องจาก เราได้ยินเสียงที่มันสะท้อน ก้องอยู่ในโพรง ตามจุดต่างๆ ในร่างกาย เช่น ทรวงอก, กระโหลก, โพรงจมูก, โพรงใต้โหนกแก้ม ฯลฯ แต่เวลาที่คนอื่นได้ยิน ไม่มีใครรู้สึกก้องขนาดนั้นไปกับเราด้วยสักเท่าไหร่หรอก

    จำไว้เสมอว่า การอัดเสียงของตัวเองมาฟังบ่อยๆ เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการหาข้อบกพร่องในการร้องเพลงของตัวเองได้ เพราะ เราสามารถฟังซ้ำแล้วซ้ำอีก กี่รอบก็ได้ เพื่อหาจุดบกพร่องของการหายใจ การใช้คำ การลากเสียง ฯลฯ

 

  1. Cool Down เหมือนเครื่องยนต์เทอร์โบ ที่เมื่อขับเคลื่อนด้วยความเร็วแรงจนเครื่องยนต์ร้อนฉ่า… คงไม่มีนักแข่งรถยนต์คนไหนที่อยากดับเครื่องเลยเดี๋ยวนั้น เพราะอาจทำให้เครื่องยนต์เสียได้ในเวลาอันรวดเร็ว บรรดานักแข่งรถจึงต้องติดอุปกรณ์ที่เรียกว่าเทอร์โบ ทามเมอร์ (Turbo Timer) เพื่อตั้งเวลาให้อุ่นเครื่องไว้เบาๆ สักพัก ก่อนที่จะดับเครื่องเองโดยอัตโนมัติเสียงของคนเราก็เหมือนกัน หลังจากที่ผ่านการใช้เสียงมาอย่างหนักแล้ว อย่าลืมที่จะวอร์มเสียงอีกครั้งอย่างเบาๆ สบายๆ เพื่อให้เส้นเสียงเกิดการผ่อนคลาย ลดอาการตึงตัว อาการเกร็ง ที่เกิดจากการร้องเพลงไปเมื่อสักครู่ วอร์มเสียงสักพักก่อน แล้วค่อยหยุดพักเสียง

    ลองสังเกตุดูได้ หากวันไหนที่คุณใช้เสียงอย่างมากแล้วกลับบ้านอาบน้ำพักผ่อนนอนหลับเลย โดยที่ไม่ได้มีการวอร์มเสียงหลังการใช้เสียงอย่างหนัก เช้าวันรุ่งขึ้น คุณจะรู้สึกระคายคอ เพราะเส้นเสียงจะเกิดอาการตึงตัว แข็งกระด้าง ทำให้เรารู้สึกไม่ดี

Comments

comments