สอนร้องเพลง – ลูกเอื้อน ลูกคอ มันต้องฝึกยังไงเหรอ?
เวลาผมสอนร้องเพลง นักเรียนหลายคนที่มาเรียนร้องเพลงกับผม
ชอบถามคำถามคล้ายๆ กันว่า
“พี่เอ็ดดี้คะ คือหนูอยากหัดร้องเพลง
ที่มันมีพวกลูกเอื้อน ลูกคอ มันต้องฝึกยังไงเหรอ?”
ส่วนใหญ่เวลาผมได้ยินคำถามแบบนี้ ผมจะตอบว่า
“ร้องธรรมดาๆ ให้มันตรงโน้ตก่อนเถอะลูก”
(พร้อมนึกในใจว่า มาอีกแล้วคำถามนี้)
นักเรียนหลายคนอาจจะคิดว่าผมกวนตีน อุ๊บส์…
ผมกวนประสาทเค้าเล่น ^___^!
แต่ผมอยากจะบอกว่า ผมพูดจากใจเลย
เพราะหลายคน พื้นฐานก็ยังไม่ทันจะทำได้ดีเลย
แต่ใจเลยไปถึงยอดเขาซะแล้ว
ถ้าเข้าใจศาสตร์พื้นฐานของดนตรีจะรู้ว่า
มันคือศาสตร์แห่งศิลปะ และ คณิตศาสตร์
เพราะนอกจากจะใช้อารมณ์ในการร้องเพลงแล้ว
ส่วนสำคัญที่สุดของมันคือ
เรื่องความสูงต่ำของตัวโน้ตและความเร็วช้าของจังหวะ
ซึ่งสามารถวัดหาค่าที่ถูกต้องได้ว่าสูง/ต่ำ แค่ไหน เร็ว/ช้า แค่ไหน
ก็เลยมีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สามารถโปรแกรมดนตรีได้
ผมเคยบอกนักเรียนในหลายๆ คลาสว่า
“ไม่มีใครสร้างตึกโดยเริ่มจากยอดตึกลงมาหรอกลูก
ร้องเพลงก็เหมือนกัน ถ้าแค่พื้นฐานยังทำได้ไม่ดี
จะต่อยอดไปได้อย่างไร”
ถ้าโน้ตแม่นยำ ถูกต้อง สูง/ต่ำ ตามเมโลดี้ที่กำหนดไว้
จังหวะถูกต้อง สั้น/ยาว ตามสัดส่วนที่กำหนดไว้
นี่แหละถึงจะเริ่มฟังเป็นเพลง แล้วค่อยมาต่อกันว่า
ต้องการอะไรเพิ่มเติม ความเพราะ??? ลูกเล่น???
ถ้าตรงนี้แม่นยำ เราก็จะเริ่มให้คำตอบในสิ่งที่นักเรียนถามมาได้
ลูกเอื้อน/ลูกคอ ฝึกยังไง?
ผมขอแยกก่อนนะครับ
ลูกเอื้อนก็คือลูกเอื้อน ลูกคอก็คือลูกคอ
ไม่เหมือนกันนะครับ
ลูกเอื้อน… ถ้าจะอธิบายเป็นภาษามนุษย์ให้เข้าใจง่ายๆ
ก็คือการร้องคำ 1 คำ ที่มีหลายโน้ต
ตัวอย่างเช่น เพลง เธอคือใคร ของ ETC
ประโยคที่ร้องว่า “ก็เฝ้าแต่ถาม ก็ได้แต่ถามจากฟ้าาาาาา”
ถ้าฟังไม่ออก พื้นฐานทางดนตรีไม่มี
ก็จะไม่สามารถเข้าใจได้ว่า ในคำว่าฟ้า มีโน้ตเรียงกันอย่างไร
ถ้าฟังออกก็จะรู้ว่าคำว่าฟ้า ถูกแบ่งออกเป็นโน้ตวิ่งขึ้นๆ ลงๆ ยังไงบ้าง
ถ้าฟังออกก็ฝึกเองได้ ค่อยๆ หัดเอื้อนเอาช้าๆ จนกว่าจะคล่องปาก
ที่สำคัญต้องตรงโน้ต ไม่อย่างนั้นคนฟังจะเสียอารมณ์
ถ้าทำไม่ได้แล้วอาศัยมั่วๆ เอา ยังไงมันก็ไม่ใช่
เพราะมันไม่ถูกต้องอย่างที่ควรจะเป็น
ส่วน ลูกคอ… (vibrato) ถ้าจะอธิบายเป็นภาษามนุษย์ให้เข้าใจง่ายๆ
ก็คือการร้องคำ 1 คำออกมา มีโน้ตเพียงโน้ตเดียว
แต่ฟังแล้วรู้สึกได้ว่ามีการสั่นสะเทือนของคลื่นเสียง
ซึ่งเกิดจากความดังและเบาสลับกันอย่างสม่ำเสมอสวยงาม
ผมเคยได้ยินครูบางคนสอนให้นักเรียนฝึกลูกคอ
ด้วยการให้ร้องโน้ตที่มีความห่างครึ่งเสียง
เช่น โด ที โด ที โด สลับกันไปเร็วๆ
ผมอยากจะบอกว่า…
ถ้าไม่เกรงใจผมจะเดินไปโบกกระโหลกครูสักป๊าป
เพราะการทำแบบนั้น ในทางดนตรีเราเรียกว่า
trill ซึ่งมันไม่ใช่ vibration มันคนละเทคนิคกัน
ยิ่งถ้านักเรียนเป็นคนที่ร้องไม่ค่อยแม่นโน้ตแล้ว
มาฝึกเทคนิคนี้ไปมั่วๆ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ
นักเรียนคนนั้นจะร้องเพลงไม่ค่อยตรงระดับเสียงที่ถูกต้อง
หรือที่เรียกว่าร้องเพลงไม่ตรง pitch note
ดีไม่มีจะพาลให้มีปัญหาเรื่องการฟังไปด้วย
เพราะเข้าใจว่าร้องตรงแล้ว แต่จริงๆ โน้ตมันแกว่งไปมา
ร้องเพลงไม่ใช่เรื่องยากครับ
แต่ต้องเข้าใจมันจริงๆ แล้วถึงจะค่อยๆ ต่อยอดไปได้
ต้องค่อยๆ ฝึกพื้นฐาน ค่อยๆ รู้จักดนตรี
แล้วจึงค่อยๆ เสริมเรื่องอารมณ์ลงไปในบทเพลง
เพราะถ้าพยายามใส่อารมณ์ แต่พื้นฐานง่อยๆ
ยังไงก็ร้องไม่ได้อารมณ์หรอก
หรืออาจจะได้อารมณ์
แต่ไม่ควรเรียกสิ่งที่กำลังทำว่า “ร้องเพลง”
เคยมีนักดนตรีคนหนึ่ง
ฝากผมให้ไปบอกนักร้องคนหนึ่ง
ด้วยคำพูดที่เจ็บแปลบ แสบสัน ว่า…
“ฝากบอกมันด้วยนะครับพี่ว่า…
การร้องเพลง ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของดนตรี
ซึ่งต้องใช้เวลาฝึกฝน เรียนรู้ ค่อยๆ เข้าใจมัน
ส่วนมึงอยากเป็นนักร้อง แต่มึงไม่รู้จักดนตรี
แค่เรื่องพื้นฐานยังไม่พยายามทำความเข้าใจเลย
แนะนำว่าให้เลิกร้องเถอะ”
ผมฟังแล้วก็เงียบ ยิ้มแห้งๆ ให้นักดนตรีคนนั้น