สอนร้องเพลง – เทคนิคการฝึกร้องเพลงอย่างมืออาชีพ
การขับร้องให้ได้เสียงที่มีคุณภาพ นั้น หมายถึง การขับร้องให้ได้เสียงที่ชัดเจน ทั้งระดับเสียงที่คงที่ไม่แกว่ง ระดับความสูงต่ำของโน้ตที่ถูกต้องตามเมโลดี้ การควบคุมจังหวะในการร้องเพลง ความหมายที่ถ่ายทอดออกมา ฯลฯ
การสร้างเสียงให้ได้คุณภาพนั้นเราสามารถทำได้โดย เน้นให้เสียงแต่ละเสียงที่ถูกเปล่งออกมา เป็นไปตามขั้นตอนดังนี้
- ขณะที่เราร้องเพลง ควรรู้สึกว่าเสียงที่เปล่งออกมานั้น ให้ความรู้สึกที่พุ่งออกไปข้างหน้า (Projection) และมีจุดรวมกันอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งบนบริเวณใบหน้า หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย (Registration) แล้วแต่ Tone ของเสียงที่เราจะเปล่งออกมา Registration ของเสียงจะเปลี่ยนไปตาม Tone ของเสียงนั้นๆ แต่ควรระวังไม่ให้ Registration ของเสียงไปตกอยู่ที่ลำคอหรือจมูกมากเกินไป เพราะจะทำให้เกิดอาการเกร็งไปโดยอัตโนมัติ ทำให้เสียงที่ได้เกิดความกระด้าง ไม่น่าฟัง
- ควรยืนให้ลำตัวตรง (Hold body) หลังตรง ยืดอก ไหล่ผาย หน้าตรง ไม่เกร็งส่วนใดส่วนหนึ่ง เพื่อให้ปอด กระบังลม ลำคอ ปาก ลิ้น ขากรรไกร ทำงานได้อย่างสะดวก ปกติ และเต็มประสิทธิภาพ และนอกจากนี้ ยังเป็นการเสริมให้เรา เป็นนักร้องที่มีบุคลิกภาพที่ดีอีกด้วย
- คิดถึงบรรยากาศ สร้างจินตนาการ (Imagination) ตามความหมายของเนื้อเพลงเพื่อให้เสียงที่เปล่งออกมา สามารถสื่ออารมณ์ได้อย่างมีชีวิตชีวา
- ถ่ายทอดอารมณ์ตามบทเพลง เพลงแต่ละเพลง จะแสดงออกถึงความรู้สึกของผู้ประพันธ์เพลงต่างกัน ผู้ขับร้องจึงควรถ่ายทอดอารมณ์จากบทเพลงให้ถูกต้อง ตามความหมายของบทเพลงแต่ละเพลง เพลงรักก็ต้องร้องให้อยู่ในอารมณ์รัก สามารถใช้น้ำเสียงสื่อถึงความหมาย และอารมณ์ของบทเพลง ทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกคล้อยตามได้ ดังนั้นก่อนที่นักร้องจะเริ่มทำการขับร้อง จึงควรศึกษาความหมายของบทเพลง ให้เกิดความเข้าใจแจ่มแจ้ง เพื่อที่จะสามารถขับร้องออกมา ได้ตามความหมายของบทเพลง
การใช้ลีลา
การบันทึกเสียงแล้วเปิดให้ผู้อื่นฟัง น่าจะเป็นเพียงโอกาสเดียวที่เราจะได้ร้องเพลงโดยที่ผู้อื่นไม่ต้องเห็นหน้าตา ท่าทาง และบุคลิกภาพของเรา ดังนั้นการบุคลิกภาพและการแสดงออกระหว่างการร้องเพลงจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสื่ออารมณ์ของบทเพลงให้ดียิ่งขึ้น
ลีลา ในที่นี้หมายถึง การแสดงออกทางอารมณ์ เพื่อให้ผู้อื่นทราบถึงความหมายของบทเพลงนั้นๆ ได้
การใช้ลีลาในการสื่อความหมายสามารถแสดงออกได้ 4 วิธี
- การใช้ลีลาผ่านทางแววตา นับเป็นสิ่งสำคัญในการสื่อถึงความหมาย ของบทเพลงแต่ละเพลง ได้เป็นอย่างดี การแสดงอารมณ์เศร้า, รัก, สนุกสนาน, ร่าเริง ฯลฯ สามารถสื่อได้ด้วยสายตา การมองและสื่อสารกับผู้ชมและผู้ฟัง ด้วยสายตา (Eyes contact) นั้น จะทำให้ผู้ชมและผู้ฟัง เกิดความรู้สึกคล้อยตามความหมายของบทเพลงได้ง่ายขึ้น
- การใช้ลีลาผ่านทางสีหน้า นอกจากการใช้แววตาในการสื่ออารมณ์แล้วนั้น สีหน้าก็นับเป็นสิ่งที่สำคัญอีกสิ่งหนึ่ง ที่ทำให้เราสามารถสื่อความหมายของบทเพลง ไปยังผู้ชมและผู้ฟังได้ เพราะโดยปกติแล้วเมื่อเกิดการสื่อสารในลักษณะ “พบหน้ากัน” สิ่งที่สำคัญและถูกมองเป็นอันดับแรกคือ “ใบหน้า” เพราะฉะนั้นการแสดงออกทางสีหน้า จึงเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่จะทำให้ผู้ชมและผู้ฟัง เกิดความรู้สึกคล้อยตามบทเพลงได้ง่าย
- การใช้ท่าทางในการสื่อความหมาย ท่าทางถือเป็นส่วนประกอบหนึ่งที่จำเป็น ในการสื่อสารให้เกิดอรรถรส เพราะหากนักร้อง ขึ้นไปร้องบนเวที ถึงแม้จะเสียงดีขนาดไหน หากไม่รู้จักการแสดงออกด้วยท่าทางแล้วนั้น ก็คงไม่มีใครสนใจกับ การร้องเพลงที่จืดชืดไร้ซึ่งอรรถรส ทำให้เราพลาดโอกาส ที่จะสื่อสารความหมายของบทเพลงอันไพเราะ ให้กับผู้ชมและผู้ฟังได้
- การใช้ลีลาในน้ำเสียง นับเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุด เพราะการใช้ลีลาในน้ำเสียงหมายถึง การที่เรารู้จักใช้น้ำเสียง ให้เป็นประโยชน์ในการสื่ออารมณ์ โดยการรู้จักการใช้จังหวะจะโคนที่เหมาะสม การใช้ความดังเบาของน้ำเสียง และการใช้เสียงในลักษณะต่างๆ เช่นดุดัน แข็งกร้าว อ่อนนุ่ม ทุ้มลึก ฯลฯ เป็นการทำให้บทเพลงมีสีสันมากขึ้น ทั้งยังทำให้ผู้ฟังสามารถจินตนาการ ตามอารมณ์ของบทเพลงได้เป็นอย่างดี
ขั้นตอนในการต่อเพลง
- อ่านเนื้อเพลงทั้งหมดก่อน และทำความเข้าใจกับความหมาย ของเนื้อร้องโดยละเอียด ว่ามีอารมณ์อย่างไร เศร้า สุข สนุกสนาน ซึ่งการอ่านเนื้อเพลงจะทำให้เราสามารถเลือกใช้น้ำเสียง Tone เสียงให้เหมาะกับบทเพลงได้
- ฟังทำนองของบทเพลง เพื่อให้เกิดความเคยชิน ทำความเข้าใจจังหวะและทำนองที่ถูกต้อง และฝึกซ้อมไปทีละท่อน เพื่อความแม่นยำ และศึกษาบทเพลงในแต่ละท่อน เพื่อให้เราสามารถเลือกใช้ และกำหนดความหนัก-เบา (Dynamic) ของน้ำเสียงได้ รวมไปถึงการใส่อารมณ์ (Expression) ให้เหมาะสมกับความหมายของบทเพลง
- หา Form ของเพลงในแต่ละเพลงว่ามีลักษณะอย่างไร มี Intro, Solo, Ending กี่ห้อง มีการจัดวางท่อนของบทเพลงอย่างไร เพลงที่จะร้องเป็นคีย์ใด มีระดับเสียงสูงหรือต่ำ เหมาะสมกับเสียงของเราหรือไม่
- ซ้อม-เก็บรายละเอียดต่างๆ เพื่อให้ได้การฝึกซ้อมอย่างมีประสิทธิภาพ ทำซ้ำจนกว่าจะรู้สึกมั่นใจ
- เลิกกังวลถึงพื้นฐานต่างๆ ในข้อ 1-4 จากนั้นทดลองถ่ายทอดอารมณ์ออกมาให้ตรงกับความหมายของบทเพลง สื่อความหมายให้ถึงผู้ฟังให้ได้มากที่สุด