สอนร้องเพลง | โทนเสียงและการออกเสียง

สอนร้องเพลง – โทนเสียงและการออกเสียง

singer-holds-microphone

โทนเสียง (Tone)

ธรรมชาติสร้างให้มนุษย์มีโทนเสียงที่แตกต่างกัน บางคนมีเสียงต่ำ บางคนมีเสียงระดับปานกลาง บางคนมีเสียงสูงแหลม อีกทั้งคุณภาพเสียงของชายและหญิงก็ยังมีการแบ่งที่แตกต่างกันออกไป ชายที่มีระดับเสียงในเกณฑ์สูง เรียกว่า Tenor ระดับกลางเรียกว่า Baritone และระดับต่ำเรียกว่า Bass ส่วนผู้หญิงที่มีระดับเสียงสูงเรียกว่า Soprano ระดับเสียงกลางเรียกว่า Mezzo Soprano และเสียงระดับต่ำเรียกว่า Contralto

 

โทนของเสียงสามารถแบ่งได้อย่างคร่าวๆตามลักษณะทางกายภาพ ได้ 3 โทน คือ Chest Tone, Mouth Tone,และ Head Tone (เสียงต่ำ,กลาง,สูง)

 

โทนเสียงต่ำ (Chest Tone) เป็นการขับร้องในระดับเสียงต่ำ เป็นเสียงที่เปล่งออกมาได้ง่ายที่สุด โดยจะรู้สึกสั่นสะเทือนบริเวณหน้าอก เสียงที่ได้จะมีความกังวาล ทุ้ม ใหญ่ เป็นโทนที่แสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึกสุขุม, รอบคอบ, เศร้า, เหงา, โรแมนติก ฯลฯ ลักษณะของเนื้อเสียงจะเหมือนกับเสียงพูดปกติของชาวตะวันตก ตำแหน่งเสียงทางกายภาพจะอยู่ที่บริเวณ หน้าท้องถึงบริเวณริมฝีปากล่าง

 

โทนเสียงกลาง (Mouth Tone) เป็นโทนเสียงที่แสดงออกถึงอารมณ์ที่ปกติ สบายๆ เมื่อปล่อยเสียงจะรู้สึกถึงการสั่นสะเทือนบริเวณช่องปาก และในโพรงอากาศบริเวณจมูก ลักษณะของเนื้อเสียงจะเหมือนกับเสียงพูดปกติของชาวตะวันออก ตำแหน่งเสียงทางกายภาพจะอยู่ที่บริเวณ ริมฝีปากถึงโหนกแก้ม

 

โทนเสียงสูง (Headtone)  เป็นโทนเสียงที่แสดงออกถึงอารมณ์ที่ดีใจสุดๆ เสียใจสุดๆ สนุกสนาน เป็นการขับร้องในเสียงสูงระดับเทนเนอร์ และ โซปราโน ขณะเปล่งเสียงจะรู้สึกสั่นสะเทือนก้องบริเวณ เหนือลิ้นไก่และพริ้วไปตามส่วนหลังของศรีษะ เกิดความก้องกังวานในโพรงกระโหลกศรีษะแผ่กระจายมาถึงโพรงอากาศบริเวณหน้าผาก ตำแหน่งเสียงทางกายภาพจะอยู่ที่บริเวณหว่างคิ้ว

 

การออกเสียง

เมื่อเรารู้จักวิธีการหายใจที่ถูกต้องและ รู้จักการใช้โทนเสียงในลักษณะต่างๆแล้ว การปล่อยเสียงให้ออกมาอย่างมีคุณภาพ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จำเป็นต้องศึกษา ในการร้องเพลงให้ได้เนื้อเสียงที่มีคุณภาพ สามารถทำได้ด้วยการเปิดทางให้การส่งลมผ่านอวัยวะต่างๆตั้งแต่ กล้ามเนื้อหน้าท้อง กระบังลม หลอดลม เส้นเสียงมาจนถึงช่องคอได้สะดวก สิ่งที่จำเป็นต่อการทำให้เสียงที่เราปล่อยออกมามีคุณภาพได้ความกังวาน (Resonance) นั้นคือการเปิดคอ

การเปิดคอ หมายถึง การทำให้ช่องคอของเราขยายออก ได้ความรู้สึกโล่งกว้าง เพื่อเป็นการเปิดทางให้ลมสามารถผ่านออกมาได้อย่างสะดวก ไม่ถูกปิดกั้น ทั้งยังเป็นการเพิ่มเนื้อที่ของโพรงในช่องคอให้เสียงที่เปล่งออกมาเกิดความก้องกังวาน ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการวางลิ้นให้ถูกตำแหน่ง ไม่ถูกยกขึ้นมาปิดกั้นช่องคอ

 

ข้อสังเกตุ : ให้นึกถึงลักษณะลำคอเวลาหาว ช่องคอจะถูกเปิดออกโดยอัตโนมัติ เพื่อให้ลมสามารถผ่านเข้าออกได้อย่างสะดวก ลิ้นถูกกดลง หากสามารถบังคับให้อวัยวะดังกล่าวเป็นไปตามต้องการได้ โดยไม่เกิดอาการเกร็งจะทำให้ช่องคอเปิดกว้าง พร้อมที่จะทำการปล่อยเสียงที่ได้ความกังวาน

 

 

การออกเสียงสระและพยัญชนะในการร้องเพลง

ในการร้องเพลง ความไพเราะของเพลงแต่ละเพลงนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการที่นักร้องมีเสียงที่ไพเราะเพียงอย่างเดียว เพราะการร้องเพลงถือเป็นสิ่งสำคัญในการสื่อความหมายไปยังผู้ฟัง เพื่อให้ผู้ฟังเกิดอารมณ์คล้อยตามไปด้วยได้ เนื้อเพลงก็นับว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญมากอีกปัจจัยหนึ่ง ที่จะทำให้เราสามารถถ่ายทอดความหมายของบทเพลงออกมาได้ดีหรือไม่ ดังนั้นการที่นักร้องจะสามารถสื่อความหมายของบทเพลงไปยังผู้ฟังได้ จึงจำเป็นที่จะต้องรู้จักความหมายของเนื้อเพลงเป็นอย่างดี ทั้งควรจะเป็นผู้ที่สามารถสื่อคำได้อย่างชัดเจนถูกต้อง

“เคยมั้ยครับฟังจนจบเพลงแต่ไม่รู้ว่านักร้อง ร้องว่าอะไร นั่นแหละครับปัญหาของคนที่ออกเสียงไม่ชัด ทำให้ขาดโอกาสในการสื่อความหมายของบทเพลง”

 

การออกเสียงสระ

การให้ความสำคัญในการออกเสียงสระในคำ จะทำให้เกิดความชัดเจนในคำ การทำความรู้จักกับสระ จะทำให้เราสามารถที่จะเลือกวิธีการออกเสียงได้ เพื่อเน้นให้คำนั้นยาว หรือสั้น โดยที่ไม่ผิดความหมายและเกิดความไพเราะ เช่น คำว่า “มา” เป็นคำที่เกิดจากพยัญชนะ ม. ม้า และสระ อา ดังนั้นเมื่อเราต้องการลากเสียงให้ยาว เราจะต้องลากที่สระ “อา” หรือ คำว่า “เดียว” เกิดจากพยัญชนะ ด. เด็ก และสระ อี+อา+อู หากต้องการลากเสียงคำว่าเดียวให้ยาว เราจะสามารถเลือกได้ว่าจะลากอย่างไรให้เกิดความไพเราะ อาจเป็น “ด+อี+อา……….+อู” ก็ได้ หรืออาจเป็น “ด+อี…………+อา+อู” หรือ “ด+อี…….+อา….+อู” แต่ไม่ควรเป็น “ด+อี+อา+อู………………..” เพราะการที่เราเลือกที่จะลากสระตัวสุดท้ายตัวเดียว โดยไม่ได้ใส่ใจกับสระในคำที่มีถึง 3 ตัว นั่นย่อมหมายถึงการไม่ใส่ใจรายละเอียดของบทเพลง เพราะคำหนึ่งพยางค์ที่มีสระให้เลือกใช้มากกว่า 1 ตัว ย่อมต้องการให้เราใช้สระในคำให้มากที่สุด

 

การวิเคราะห์การออกเสียงสระดังนี้นอกจากจะได้คำที่ชัดเจนแล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสให้เราสามารถ “สร้างภาพ” ในขณะร้องเพลงได้อีกด้วย เพราะคำบางคำเราสามารถยิ้มไปด้วยในขณะร้องได้ เพื่อให้ดูสวยงามและสอดคล้องกับความหมายของบทเพลง

 

ในขณะที่ขับร้อง เราไม่สามารถที่จะบอกได้ว่าควรจะอ้าปากแค่ไหน เพื่อให้ได้เสียงสระที่ชัดเจนและรูปปากดูสวยงาม ดังนั้นจึงขอแทนค่าการใช้ริมฝีปากและขากรรไกรในขณะเปล่งเสียงด้วยตัวเลข 1-4 ซึ่ง 4 หมายถึงการใช้อวัยวะส่วนนั้นๆอย่างเต็มที่ และลดลงเรื่อยๆตามค่าของตัวเลข เช่น ริมฝีปาก = 4 หมายถึง การเปิดริมฝีปากให้กว้างโดยการยิ้มแบบยกมุมปากให้เห็นโหนกแก้ม, ขากรรไกร = 4 หมายถึง การเปิดขากรรไกรให้กว้างโดยการอ้าปากมากๆ

 

ตารางแสดงการทำงานของริมฝีปากและขากรรไกร

เสียงสระ ริมฝีปาก ขากรรไกร
อี 4 1
เอ 4 2
แอ 4 3
อา 4 4
ออ 3 4
โอ 2 4
อู 1 4

 

 

การออกเสียงพยัญชนะ

ถ้าเปรียบสระเหมือนเนื้อหนังพยัญชนะก็เปรียบเหมือนกระดูก หมายถึงสิ่งที่ต้องอยู่คู่กัน ความสำคัญของการใช้สระและพยัญชนะ เป็นสิ่งที่เท่าเทียมกัน ในหลักการออกเสียงนั้น หากเราเน้นพยัญชนะมากเกินไป อาจทำให้คำที่พูดออกมาเกิดความกระด้าง เสียงขึ้นจมูก หรือลงคอ อาทิ “น” “ม” “ง” “ต” เป็นพยัญชนะที่เป็นนาสิกโทน หรือเสียงขึ้นจมูก ซึ่งไม่ควรออกเสียงเน้นที่พยัญชนะนั้นเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้เสียงที่ได้ออกมาเป็นเสียงขึ้นจมูก

 

ในเพลงสากล การออกเสียงเป็นสิ่งที่สำคัญและยากมาก เพราะมีลักษณะการใช้งานไม่เหมือนภาษาไทย มีการใช้อวัยวะส่วนปาก ฟัน ลิ้น ผิดจากพยัญชนะในภาษาไทยเช่น “V” คำว่า “van” คนไทยหลายคนอ่านว่า “แวน” แต่คำว่า Volk (รถยนต์ยี่ห้อหนึ่ง) คนไทยกลับอ่านว่า “โฟล์ค” เลยไม่รู้ว่าควรอ่านออกเสียงตัว “V” โดยใช้เทียบกับพยัญชนะตัวไหนของภาษาไทย ซึ่งแท้ที่จริงแล้วพยัญชนะตัว “V” เวลาออกเสียงเป็นภาษาไทยต้องออกเป็นตัว “ฟ+ว” ควบกล้ำกัน เป็นต้น

 

สนในเรียนร้องเพลงกับ อี-มิวสิค โทร. 0989524922

Comments

comments